ประวัติความเป็นมา

          โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโรงเรียนแห่งที่ ๒ ของมูลนิธิพระดาบสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริว่าเยาวชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาสำคัญคือขาดการศึกษา มูลนิธิพระดาบสสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการสอนเน้นการปฏิบัติได้จริงและนำไปประกอบอาชีพได้จริง มูลนิธิฯ สนองพระราชดำริโดยใช้ต้นแบบ หลักการ และวิธีการเดียวกับโรงเรียนพระดาบสแห่งแรกที่กรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนนอกระบบโรงเรียนที่ ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ มีโอกาสเล่าเรียนด้านอาชีพที่เหมาะสมมีคุณธรรมและจิตสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งมีอาชีพอันเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นพลเมืองดี เป็นที่พึ่งของตนเองครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ


มูลนิธิพระดาบส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันสนองพระราชดำริในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้หลักการพระราชทานเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อย่างเข้มแข็ง และเป็นขั้นตอนความเข้าใจถึงความต้องการของชุมชน ศึกษาลู่ทางโอกาสในการประกอบอาชีพในพื้นที่ สร้างความมั่นใจและแสวงหาความร่วมมือสนับสนุน บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาคม และผู้นำทางศาสนาอย่างกว้างขวาง ในขั้นต้นได้จัดตั้งเป็นโครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวทางของโรงเรียนพระดาบสโดยใช้สถานที่ในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา จังหวัดยะลา เลขที่ ๗๘ ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา การฝึกอบรมเริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ ในสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ และช่างซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน รุ่นแรกมีนักเรียน ๓๙ คนโดยรับต่อมาจากโครงการทำดีมีอาชีพ มาฝึกอบรมเพิ่มเติม ๖ เดือน ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส กล่าวคือให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะอาชีพ ให้มีความสามารถไปประกอบอาชีพได้จริง ควบคู่ไปกับฝึกทักษะชีวิตให้เป็นคนดี มีคูณธรรม มีวินัย มีจิตสำนึกสาธารณประโยชน์และการอยู่ร่วมกันช่วยกันสร้างชาติบ้านเมือง

นักเรียนทั้งหมดพักอาศัยในโครงการตลอดหลักสูตรโดยไม่ต้องเสียค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าเล่าเรียน โดย อ.บต. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เมื่อเรียนจบนักเรียนรุ่นแรกจำนวน ๒๔ คน หรือร้อยละ ๖๒ สามารถประกอบอาชีพในสถานประกอบการหรืออาชีพส่วนตัว ตรงตามสาขาที่เรียน อีก ๑๒ คนหรือร้อยละ ๓๑ ประกอบอาชีพส่วนตัวไม่ตรงตามสาขาที่เรียน การประเมินผลแสดงว่าผลการเรียนและพฤติกรรมนักเรียนอยู่ในระดับพอใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสู้งาน ปฏิบัติงานได้ดีและมีจิตสาธารณะแต่ควรเพิ่มพูนประสบการณ์ การฝึกงานในสถานประกอบการ ดังนั้นในรุ่นที่ ๒จึงขยายหลักสูตรเป็น ๑ ปี เปิดรับสมัครผู้ด้อยโอกาสใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อายุ ๑๗ – ๓๕ ปี ที่มุ่งมั่นแสวงหาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่จำกัดพื้นฐานความรู้ขั้นต้น ต่อมามีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ลงนามความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพระดาบส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมพ.ศ. ๒๕๕๔ ณ ทำเนียบองคมนตรีพระราชอุทยานสราญรมย์กรุงเทพมหานครเพื่อประสานงานและสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานโครงการให้เข้มแข็งและมี

ประสิทธิภาพ สนองพระราชดำริอย่างเต็มที่นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการภาคเอกชนหลายรายที่รับนักเรียนเข้าฝึกงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระกรุณาธิคุณเสด็จฯ ไป
ทรงเยี่ยมโครงการเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๕๕ พระราชทานคำแนะนำด้านต่างๆ อาทิ การเปิดสอนสาขาช่างไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติตามที่พล.อ.อ. กำธน สินธวานนท์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิพระดาบสกราบบังคมทูลพระกรุณาขอจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารนายบัญญติ จันทน์เสนะ เป็นเลขาธิการนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นรองเลขาธิการได้พัฒนาโครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสขึ้นเป็นลำดับและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานะเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ในการกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๕๕ นับเนื่องถึงปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ๕ รุ่น รวม ๒๔๙ คน

ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ เริ่มการรณรงค์จัดหาทุนเพื่อสร้างอาคารโรงเรียนแห่งใหม่ บนพื้นที่๕ ไร่ ที่กรมการพัฒนาชุมชนมอบที่ดินในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา เพื่อการนี้มีผู้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากการศึกษานอกโรงเรียนผ่าน ศอ.บต. งบประมาณการก่อสร้างและครุภัณฑ์อุปกรณ์รวมทั้งส้นิ ๕๖ ล้านบาท นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. และรองเลขาธิการโครงการพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าถึงประสบการณ์ ในโครงการนี้ว่า “…ช่วงแรกเริ่ม สิ่งที่เรากังวลมากคือเรื่องชื่อของมูลนิธิ ที่มีคำว่า ‘พระ’ ซึ่งคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เราจึงต้องพยายามอธิบายให้พวกเขาฟังว่า ‘พระ’
ในที่นี้คือ พระฤาษี พระอาจารย์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า หรือพระภิกษุ ซึ่งพี่น้องมุสลิมก็เข้าใจเป็นอย่างดี เข้าใจมากกว่าที่เราคิดว่าเขาจะเข้าใจด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามเราก็ได้ส่งโครงการนี้ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง ๕ จังหวัด ได้รับรู้รับทราบด้วย… “โชคดีที่เด็กในพื้นที่สนใจเรื่องเหล่านี้และมีทักษะอยู่แล้ว พอเปิดรับสมัครจึงมี

ผู้สนใจมาสมัครกันมากมาย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะยิ่งมีเด็กต้องการมาเรียนกับเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสคัดเลือกเด็กได้มากขึ้นเท่านั้น ก็เลยเกิดกระบวนการคัดกรองขึ้นมา ซึ่งการคัดกรองนี้มีเสน่ห์อยู่ที่การสัมภาษณ์ เพราะไม่ได้สัมภาษณ์แค่เด็กที่ต้องการจะเข้าเรียนเท่านั้น แต่ยังสัมภาษณ์ผู้ปกครองด้วยเป็นระบบการสัมภาษณ์แบบครอบครัวซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองและเด็กจะได้เปิดใจกันโดยผู้ปกครองก็จะได้รับรู้พฤติกรรมของเด็ก ขณะเดียวกันเด็กเองก็มีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึกของผู้ปกครองด้วยว่ามีความปรารถนาดีต่อเขาและอยาก ให้เขาเข้าเรียนมากเพียงใด ซึ่งเขาก็ควรจะทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ตรงนี้เองทำให้เวลาเราพบเด็กที่สนใจจะเข้าเรียน แต่พอตรวจสอบประวัติแล้วพบว่ายังยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่แต่แม่อยากให้เข้ามาเรียน ลูกเองก็อยากเข้ามาเรียน เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถให้คำมั่นสัญญา ปฏิญาณตนต่อหน้าแม่ได้เดี๋ยวนั้นเลยว่าจะเลิก โดยมีอาจารย์ผู้สัมภาษณ์ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ที่ผ่านมามีเด็ก ๒ รายที่อยู่ในกรณีนี้ และก็สามารถเลิกได้จริงๆ เท่ากับว่าเราสามารถหักดิบคนติดยาได้และช่วยลดปัญหาในพื้นที่ได้…”

“การลดปัญหาในพื้นที่” ยังหมายถึงการลดปัญหาการว่างงาน เพราะโดยลักษณะของคนในพื้นถิ่น ไม่นิยมย้ายออกไปไหนพอเรียนจบไม่มีงานก็กลับมาเป็นเกษตรกรกรีดยาง แต่พอมีโรงเรียนพระดาบส เขาจะเปลี่ยนมาเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์บ้างช่างไฟฟ้าบ้าง สามารถประกอบอาชีพได้จริง นายมะฮาซิส ปะจูกูเล็ง นักเรียนรุ่นที่ ๑
โครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส หลักสูตรช่างซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร ชาวอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อายุ ๑๕ ปี นับถือศาสนาอิสลาม เล่าเรื่องราวชีวิตว่า

“…ก่อนที่ผมจะเข้ามาเรียนที่โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอาศัยอยู่กับแม่ ช่วยแม่กรีดยาง บางครั้งก็ไปทำงานก่อสร้าง จากนั้นผมได้มาสมัครเข้าร่วมอบรมโครงการทำดีมีอาชีพของกอ.รมน. ผมเองก็จบแค่ ม.๓ แต่ก็ได้รับโอกาสมาเรียนที่โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีวิชาชีพติดตัว ตอนนี้ผมทำงานที่บริษัท คูโบต้าหาดใหญ่จักรกล จำกัด ตำแหน่งช่างศูนย์คูโบต้า แม็กซ์ผมคิดว่าบริษัทเขามั่นใจนักเรียนที่จบจากโรงเรียนพระดาบสว่าเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพและนิสัยดี อีกอย่างก็เพราะ

ตัวเราเองที่ซื่อสัตย์และขยัน เรามุ่งจะไปจุดไหนก็ต้องทำให้ถึงที่สุด มั่นใจได้เลยครับว่านักเรียนที่จบจากที่นี่จะไม่คดโกงและเป็นคนดีแน่นอน…” นายนิรุน วาจิ นักเรียนรุ่นที่ ๒ โครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ชาวอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พ่อแม่เสียชีวิต อาศัยอยู่กับพี่และแม่เลี้ยง ทำงานรับจ้างทั่วไปและงานก่อสร้างบ้าง แสดงความรู้สึกว่า“…การที่ได้มาเรียนที่นี่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ทุกวันจะมีคำปฏิญาณตนทุกเช้าหลังเคารพธงชาติให้นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างโรงเรียนให้ ผมดีใจและภูมิใจมากครับที่พระองค์ท่านทรงสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ด้อยโอกาสได้ศึกษาด้านวิชาชีพผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาส ผมอยากขอบคุณคณะครูอาจารย์ทุกท่านที่ได้สั่งสอนผมให้เป็นคนดี และรู้จักตอบแทนพระคุณของแผ่นดิน…” ในปัจจุบันมีนักเรียนรุ่นที่ ๖ จำนวน ๗๘ คน ทำการสอน ๔ หลักสูตร ในสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ ช่างซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร และช่างไฟฟ้า นักเรียนทุกคนต้องเรียนหมวดวิชาเตรียมช่าง ๓ เดือนก่อนเข้าสู่หมวดวิชาชีพเฉพาะ ๕ เดือนและฝึกงานในสถานประกอบการอีก ๓ เดือน